บอร์ด บขส. ย้ำ ขั้นตอนสรรหา กจญ. โปร่งใส – ย้ายหมอชิตต้องคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก
03-07-2017
ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานคณะกรรมการบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 6/2560 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยจะประเมินผลการทำงานของ นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. ในช่วง 4 เดือนแรก หากผลงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จะมีผลสิ้นสุดสัญญาจ้าง แต่หากมีผลงานผ่านหลักเกณฑ์การประเมินก็ยังต้องถูกประเมินในทุก 6 เดือนต่อไป
สำหรับกระบวนการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส ที่ผ่านมา มีความล่าช้าเกิดขึ้น เนื่องจาก คณะกรรมการสรรหาฯ มีจำนวนไม่ครบ 5 คน ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดไว้ เนื่องจากมีการลาออก หมดวาระ ของกรรมการหลายท่าน จึงต้องรอการแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทฯ เข้ามาใหม่ เมื่อได้รับการแต่งตั้งมาครบ จึงได้ดำเนินการสรรหาในทันที และคณะกรรมการสรรหาฯ ได้พิจารณาเห็นว่าควรปรับปรุงคุณสมบัติผู้สมัคร เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน สามารถสมัครเข้าแข่งขันได้มากขึ้น เพื่อมีโอกาสได้เลือกคนเก่งและดี เข้ามาพัฒนา บขส ซึ่งอยู่ในภาวะที่มีการแข่งขันสูงกับสายการบินต้นทุนต่ำและรถร่วม ผู้โดยสารและรายได้ลดลงมาก การพิจารณาปรับปรุงคุณสมบัติจึงเป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการสรรหาฯ ที่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย ไม่มีการเอื้อประโยชน์ใดๆ ต่อผู้สมัคร และการสรรหาทุกรอบคณะกรรมการสรรหาฯ ให้ความยุติธรรมกับผู้สมัครอย่างเท่าเทียมกัน อีกทั้งการประกาศรับสมัครได้มีการกำหนดคุณสมบัติ ผ่านสื่อต่างๆ ล่วงหน้า และเปิดเผย
ประธานคณะกรรมการบริษัทฯ กล่าวถึงแผนการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) กลับไปยัง สถานีหมอชิตเก่า ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 100,000 ตารางเมตร ว่า บขส ไม่ขัดข้อง เนื่องจากผู้โดยสารสามารถเดินทางมาที่สถานีหมอชิตเก่าได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะใช้รถไฟฟ้าสายสีเขียว รถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ หรือรถส่วนตัว แต่ต้องการให้ กระทรวงคมนาคม ได้ศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน มีการจัดพื้นที่ให้เพียงพอรองรับปริมาณรถโดยสารในอนาคต และให้ความสำคัญกับการเดินทางของผู้โดยสาร ไม่ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดหรือวิกฤติ ต้องก่อสร้างทางเชื่อม (Ramp) เข้า-ออก ไปสู่ถนนวิภาวดีโดยตรง ซึ่ง บขส. จะไม่เป็นผู้ลงทุนด้านโครงสร้างหลักต่าง ๆ แต่จะลงทุนเฉพาะการพัฒนาระบบการเดินรถ และระบบบริหารสถานี ให้มีความทันสมัย มุ่งสู่ Smart Station เช่น สถานี Shinjuku ในประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับบริการที่ทันสมัย สะดวกสบาย และเป็นมาตรฐานสากล นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้ก่อสร้างสถานีบริการขนส่งสาธารณะขนาดเล็ก (บริเวณพื้นที่ใต้ทางด่วน) เพื่อใช้เป็นพื้นที่ให้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ ตามนโยบายการจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2560